โรคภัย และการดูแลน้องกระต่าย
โรคภัย และการดูแลน้องกระต่าย ประกอบไปด้วยโรคจากหลายระบบ โดยอาจจะแบ่งได้เป็นช่วงอายุ
กระต่ายช่วงวัยเด็ก
โรคที่เราพบได้เสมอคือ โรคผิวหนังจากปรสิต เช่น โรคไรขี้เรื้อน ไรในหู ไรขน และไรรังแค ซึ่งมักพบมากกว่า 50 % ของกระต่ายเด็กที่ย้ายบ้านใหม่ โดยโรคผิวหนังจากปรสิตนี้จะทำให้กระต่ายเกิดการรำคาญ เกาตัวเองรวมถึงทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
โรคที่สองคือโรคท้องเสีย ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยๆคือ การติดเชื้อบิด (Coccidiosis ) ซึ่งการติดเชื้อบิดถือเป็นภาวะที่อันตรายมากเนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของกระต่ายเด็ก โดยอาการหลักที่จะพบคือกระต่ายจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ เป็นมูก หรือมีเลือดปน
โรคที่ 3 คือ โรคชักในกระต่ายเด็ก สาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้นๆของกระต่ายย้ายบ้านใหม่ๆ นอกจากระต่ายท้องเสียแล้ว อีกโรคคือกระต่ายชัก เนื่องจากขาดสารอาหารที่เหมาะสม อาการของโรคน้ำตาลต่ำ หรือขาดสารอาหารในกระต่ายเด็กคือ มีอาการซึม ไม่ขยับ และมีอาการชัก เนื่องจากน้ำตาลในเลือดตก
กระต่ายช่วงวัยรุ่นและวัยชรา
โรคฟันยาวและฝีรากฟัน ซึ่งโรคฟันในกระต่าย เกิดขึ้นได้ทั้งฟันหน้าและฟันกรามของกระต่าย สาเหตุของของฟันยาวเนื่องจากกระต่ายมีปัญหาของการสบกันของฟัน โดยปกติแล้ว ฟันกระต่ายจะมีการงอกยาวตลอดชีวิต ทั้งฟันหน้าและฟันกราม หากการให้อาหารที่ผิด และการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเช่น ทานแต่ผักนิ่มๆ และอาหารเม็ดไม่เคยให้หญ้าเลย อาจจะเป็นสาเหตุโน้มนำทำให้เกิดฟันยาวได้ และโน้มนำทำให้เกิดฝีรากฟันตามมา ซึ่งหากพบว่าบริเวณใบหน้ามีการบวมขึ้น อาจจะเป็นตำแหน่งฟันกราม หรือใต้ดวงตา อาจจะเป็นหนึ่งในอาการเริ่มต้นของฝีรากฟัน
โรคมะเร็งมดลูก ในกระต่ายที่อายุ 4 ปีขึ้นไปและยังไม่ทำหมัน 80 % พบว่ามีความผิดปกติที่มดลูก ทั้งที่แสดงอาการ หรือ ไม่แสดงอาการ โดยอาการที่มักพบบ่อยๆ พบว่ามีเลือดไหลออกจากอวัยเพศ หรือ ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าปัสสาวะเป็นเลือด หรือ ฉี่เป็นเลือด โดยการป้องกันและรักษาที่ดีที่สุดคือ การทำหมันในช่วงอายุที่เหมาะสม เช่น ก่อนอายุ 2 ปี
โรคตับบิด ในปัจจุบันเนื่องจาก การวินิจฉัยทำได้ครอบคลุมมากขึ้น อาการตับบิดในกระต่ายนั้น ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษา อย่างทันที โดยอาการที่กระต่ายแสดงออกนั้น จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด โดยตับที่บิดนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมีสาเหตุโน้นนำมาจากการที่กระเพาะขยายทำให้เบียดตับ การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือด และ ultrasound ร่วมกัน โดยการรักษานั้นทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไขภาวะตับบิด
โรคโปรโตซัวขึ้นสมอง (E.Cuniculi) หรือโรคคอเอียง เกิดจาก โปรโตซัว ที่มีการเคลื่อนที่ไปที่สมองและทำให้สมองเสียหาย โดยการติดเชื้อโปรโตซัวนี้ สามารถติดได้ตั้งแต่อยู่ท้องแม่ หรือได้รับเชื้อภายหลังผ่านทางการกิน สปอร์ของเชื้อเข้าไปโดยอวัยวะหลักๆ ที่มีปัญหาหลังจากการติดเชื้อเข้าไปคือ ไต ตา และ สมอง การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจเลือด หรือ ตรวจปัสสาวะโดยเทคนิค PCR เพื่อหาเชื้อในปัสสาวะ การรักษาสามารถทานยาเพื่อฆ่าโปรโตซัวได้โดยทานต่อเนื่อง 14-28 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ
โรคผิวหนังกระต่าย ที่มักพบได้บ่อย
- Parasitic Disease (โรคที่เกิดจากปรสิต)
- Pododermatitis (อุ้งเท้าอักเสบ)
- Dermatophytosis (เชื้อรากระต่าย)
- Barbering or Hair Pulling (จมูกโกร๋น)
- Moist dermatitis (กระต่ายผิวหนังอักเสบ)
- Viral skin disease (โรคผิวหนังที่เกิดจากไวรัส)
- Subcutaneous abscess (ฝีใต้ผิวหนัง)
Parasitic Disease (โรคที่เกิดจากปรสิต)
Ear mite: ไรในหู เกิดจาก ไร Psoropted cuniculi บางครั้งเปิดดูด้านในหู มักเกิด otitis externa (หูชั้นนอกอักเสบ) บางตัวเกิดอาการ Head tilt (หัวเอียง) เพราะ tympanic membrane (เยื่อแก้วหู) ทะลุ อาการจะแสดงอาการเจ็บปวดแบบรุนแรง มีอาการคล้ายทางประสาท แต่จะเกิดการ circling (กลิ้งตัวแบบดิ้นรน) บางครั้งอาจต้องวางยาสลบเพื่อทำความสะอาดหู เพราะกระต่ายจะทรมานและต้องรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย
Fur mite: ไรขน ไรผิวหนัง ปกติกระต่ายจะ grooming ตัวเองตลอดเวลา และจะไม่มีเศษรังแค แต่ถ้าพบรังแคและไต่ตามขนได้มันคือ ไรขน (fur mite) โดยไรขนกระต่ายก่อให้เกิดความรำคาญ ระคายเคือง อักเสบ
Mange mites: ไรขี้เรื้อนแห้งในกระต่าย เกิดจากเชื้อ Demodex cuniculi พบได้แต่พบน้อย
Flea: หมัด บางครั้งพบการติดเชื้อจากสุนัขและแมว
Pododermatitis (อุ้งเท้าอักเสบ)
เกิดจากอุ้งเท้าอักเสบ (มีฝีเกิดขึ้นที่บริเวณฝ่าเท้า) สาเหตุเนื่องจากน้ำหนักตัวมากเกินไป พื้นกรงแข็ง พื้นมีลักษณะเป็นลวด ซี่พื้นกรงห่างกันหรือชิดกันเกิดไป ทำให้เวลาที่น้ำกดทับนานๆ เส้นเลือดไม่ไหลเวียนบางตัวเป็นด้านข้างฝ่าเท้า เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มาก ทำให้ขาแบะออก เกิดตุ่มฝีขึ้น
Dermatophytosis (เชื้อรากระต่าย)
โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรากระต่าย พบเจอได้บ่อย แสดงอาการคันมาก โรคผิวหนังกระต่ายชนิดนี้ต้องรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 21 -28 วัน หายแบบช้าๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไปรอยโรคถึงจะค่อยๆดีขึ้น โดยเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค คือ Trichophyton mentagrophytes (ทดสอบด้วย wood’s lamp: ไฟสีม่วงไม่ได้) และ Microsporum spp. (ทดสอบด้วย wood’s lamp: ไฟสีม่วงได้) โรคเชื้อรากระต่ายมักจะรักษาโดยใช้ยากิน เพราะกระต่ายจะทำการ grooming (แต่งตัว) ตัวเองตลอด และรอยโรคเชื้อราในกระต่ายที่เกิดขึ้นก็จะสามารถกระจายไปทั่วลำตัว
Barbering or Hair Pulling (จมูกโกร๋น)
ภาวะจมูกโกร๋น ขนหายไปเป็นปื้น ซึ่งเป็นภาวะที่พบเจอได้ปกติของกระต่ายหรือบางครั้งกระต่ายที่กำลังจะคลอดลูกก็พบได้ แต่ผิดปกติในกลุ่มหนู ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเครียดแล้วจะเกาหน้าหรือมีบาดแผลที่เรามองไม่เห็น
Moist dermatitis (กระต่ายผิวหนังอักเสบ)
โรคผิวหนังอักเสบ อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
Slobber น้ำลายไหลมากและเปียกคาง ชื้นมาก ทำให้เกิดโรคผิวหนัง มีอาการอักเสบ แดง ผิวหนังลอก
Urine Scald (ฉี่เปรอะ/ฉี่กะปริดกะปรอย) เกิดโรคผิวหนัง บางครั้งอาจเกิดจากสาเหตุโรคอื่นๆ เช่น ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่ว โรคไต ขาหัก หรือกล้ามเนื้อขาหลังไม่แข็งแรง อายุมากแล้วนอนปัสสาวะเลอะท้ายลำตัว
Viral skin disease (โรคผิวหนังที่เกิดจากไวรัส)
โรคผิวหนังที่เกิดจากไวรัส เช่น Myxomatosis เกิดจาก pox virus บางทีเรียก Myxoma virus จะเกิดตุ่มตามตัว ต่อมน้ำเหลืองใหญ่ มีโอกาสเสียชีวิตสูงและติดต่อกันง่าย พบในต่างประเทศ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงาน
Subcutaneous abscess (ฝีใต้ผิวหนัง)
กระต่ายเป็นฝีสามารถเจอได้บ่อย โดยเฉพาะกระต่ายเป็นฝีที่เท้า บางตัวต้องทำการเอกซเรย์ เพื่อดูว่ามันกินกระดูก (osteomyelitis) ไปแล้วรึยัง โดยส่วนมากเป็นโรคทางระบบ หากกินเนื้อกระดูกจนเกิดการติดเชื้อแล้ว อาจต้องตัดขาทิ้ง ถ้าต้องตัดขาหน้าโอกาสรอดค่อนข้างต่ำ หากตัดขาหลังมีโอกาสรอดสูง ด้วยเพราะกระต่ายใช้ขาหน้าเป็นตัวนำทาง ถ้าตัดออกมันจะเอาหน้าไถพื้น
การดูแลกระต่าย
โรคภัย และการดูแลน้องกระต่าย
สิ่งที่ควรทำ
ดูแลและสังเกตอาการกระต่ายอยู่เป็นประจำ ถ้าเกิดความผิดปกติเพียงเล็กน้อยต้องรีบพาไปพบสัตว์แพทย์
ให้สัมผัสอย่างเบามือ ไม่ใช้ความรุนแรง
ทำความสะอาดกรง และบริเวณกรงอย่างสม่ำเสมอ
ควรให้อาหารที่เหมาะสม และที่เป็นประโยชน์แก่กระต่าย
สิ่งที่ไม่ควรทำ
อย่าหิ้วหรือดึงหูกระต่ายเป็นอันขาด
อย่าให้อาหาร หรือขนมที่เป็นแป้ง เช่น คาร์โบไฮเดรต เพราะจะเกิดผลเสียกับกระต่าย
อย่าเลี้ยงกระต่ายให้เป็นแฟชั่น แต่ให้เลี้ยงเพราะความรัก และอยากจะเลี้ยง
ไม่ควรอาบน้ำให้กระต่ายบ่อยเกินไป อาจอาบได้ประมาณ 3-4 เดือน/ครั้งก็พอ
ถ้าหากที่บ้านเลี้ยงแมว ไม่ควรนำห้องน้ำแมวที่มีสารดับกลิ่นมาใช้รวมกับกระต่าย ควรใช้ขี้เลื่อย หรือหนังสือพิมพ์แทนเพื่อการทำความสะอาด
หากจะเลี้ยงกระต่ายผู้เลี้ยงควรจะต้องคอยสังเกตอาการของกระต่ายอยู่เป็นประจำด้วยว่ามีอาการป่วยเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ไม่ดื่มน้ำ ไม่กินอาหาร ขนร่วง ซึม เป็นแผล มีขี้มูกขี้ตา บางตัวอาจเป็นไรในหู คือจะมีขี้หูรวมตัวเป็นแผ่นหนา ซึ่งกระต่ายจะคันมาก หรือในกรณีที่กระต่ายเป็นตาฝ้า ลูกตามีหนองอยู่ข้างใน หรือมีน้ำตาไหล อาจเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ ขนทิ่มตา ท่อน้ำตาตัน ซึ่งอาการเหล่านี้บ่งบอกว่าต้องมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นกับกระต่ายของท่าน ไม่ควรปล่อยไว้ควรพามาพบสัตว์แพทย์ตรวจหาสาเหตุความผิดปกติเหล่านั้นโดยด่วนเพื่อรับการรักษาได้อย่างทันการณ์
เลี้ยงกระต่ายหน้าร้อน ต้องระวังอะไรบ้าง
หน้าร้อนเป็นช่วงเวลาที่อันตรายสำหรับกระต่าย เพราะอุณหภูมิที่ร้อนจัดอาจทำให้กระต่ายเกิดฮีตสโตรกและเสียชีวิตได้ง่าย ควรวางกรงในที่อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง และใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยคลายร้อน
อาหาร
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
เพิ่มผักสดที่มีน้ำเยอะ เช่น ผักกาดหอม แตงกวา
เติมน้ำผักหรือน้ำผลไม้สดให้กระต่าย
การสังเกตอาการ
สังเกตว่ากระต่ายมีอาการหอบ หายใจเร็ว อ้าปากค้าง หรือไม่
หากพบอาการดังกล่าว ให้รีบนำกระต่ายไปพบสัตวแพทย์ทันที
ข้อควรระวัง
ห้ามให้น้ำแข็งแก่กระต่ายโดยตรง
ห้ามวางกรงกระต่ายไว้กลางแจ้ง
ห้ามใช้ยาคลายร้อนสำหรับมนุษย์กับกระต่าย
จะเห็นแล้วว่าวิธีการเลี้ยงกระต่ายนั้นไม่ยุ่งยากเลย แถมถ้าเลี้ยงได้ดี กระต่ายก็ยังให้โชคอีกด้วย ได้กล่าวแล้วว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่น่ารัก และน่าสงสาร ถ้าการที่ถูกนำมาเลี้ยงกลายเป็นการหนีเสือปะจระเข้ก็จะเป็นกรรมของกระต่าย แต่ท่านสามารถเป็นผู้อุปถัมภ์ให้กระต่ายผู้น่าสงสารได้ โดยการให้ความรักและความเมตตาต่อกระต่ายอย่างจริงจัง เพียงเท่านี้กระต่ายก็จะมีความสุข และอยู่คู่กับโลกนี้ไปได้อีกนาน