การเลี้ยงกระต่าย

การเลี้ยงกระต่าย

สำหรับมือใหม่ หัดเลี้ยงกระต่าย ต้องรู้อะไรบ้าง

เลี้ยงกระต่าย สำหรับมือใหม่ ต้องหัดอุ้มให้ถูกต้อง

การเลี้ยงกระต่าย สำหรับมือใหม่ อย่างแรกที่ควรรู้คือ “ห้ามหิ้วหูกระต่าย” เพราะเป็นส่วนที่มีทั้งเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่มากมาย เรียกว่าเป็นจุดตายของกระต่ายได้เลยเพราะเป็นส่วนที่ละเอียดอ่อนมาก วิธีการอุ้มที่ถูกต้องคือ ให้อุ้มเหมือนเด็กทารก ใช้มือข้างนึงสอดเข้าไปใต้ขาหน้าทั้ง 2 ข้าง แล้วใช้มืออีกข้างประคองที่ก้นของน้องเอาไว้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระต่าย

  • กระต่ายเป็นสัตว์สังคม ซึ่งมีโครงสร้างสังคมที่ซับซ้อน ตัวผู้จะมีการสร้างอาณาเขตของตนเอง โดยเอาคางไปถูรอบ ๆ กรง
  • กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีระบบย่อยอาหารไม่เหมือนสัตว์อื่น วิธีการเลี้ยงกระต่ายจะต้องเลือกอาหารกระต่ายที่มีประโยชน์ นอกจากนี้กระต่ายยังมีนิสัยกินมูลของตัวเอง เพื่อให้ได้รับสารอาหารและแบคทีเรียที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร
  • ฟันกระต่ายจะโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยแล้วฟันหน้าของกระต่ายจะยาวขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อสัปดาห์
  • กระต่ายเป็นสัตว์ที่ฉลาด เจ้าของสามารถฝึกกระต่ายให้ตอบสนอง หรือทำตามที่เราสั่งได้

พฤติกรรมที่แสดงถึงอารมณ์ต่าง ๆ ของกระต่าย

การที่เราจะเลี้ยงสัตว์ชนิดใด จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรม รวมถึงการสื่อสารของสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์นั้น ๆ ซึ่งวิธีการเลี้ยงกระต่ายที่ดีเราต้องรู้จักวิธีการสื่อสารของกระต่ายด้วย

กระต่ายกำลังผ่อนคลาย

  • หากต้องการรู้ว่ากระต่ายของเรากำลังผ่อนคลาย ให้ดูที่ลักษณะการนอนราบกับพื้น และเก็บขาทั้ง 4 ข้างไว้ใต้ลำตัว หรือยื่นขาหน้าออกไป ส่วนขาหลังวางยืนไปข้างลำตัวหรือยื่นไปข้างหลัง
  • อีกลักษณะที่แสดงว่ากระต่ายของเรากำลังมีความสุขคือ กระต่ายจะกระโดดขาทั้ง 4 ข้างลอยขึ้นจากพื้น บิดตัวเล็กน้อยก่อนที่ขาจะแตะพื้น

กระต่ายกำลังวิตกกังวล

  • กระต่ายที่มีความวิตกกังวล จะอยู่ในท่าหมอบ หัวนาบไปกับพื้น กล้ามเนื้อตึงเครียด หูกางออก ลู่ไปด้านหลัง และตาเบิกกว้างในท่าทางหวาดระเวง
  • นอกจากนี้กระต่ายที่กำลังกังวล ไม่อยากให้เราอยู่ใกล้ มักจะไปแอบอยู่ในที่ต่าง ๆ

กระต่ายกำลังโกรธและหงุดหงิด

  • กระต่ายที่กำลังโกรธหรือหงุดหงิด จะหันหลังให้เรา กระโดดหนีพร้อมสะบัดขาหลัง หูลู่ไปด้านหลัง
  • กระต่ายนั่งบนขาหลังตั้งตัวตรง หูตั้ง ขาหน้ายกขึ้นเหมือนกำลังต่อยมวย และอาจมีเสียงขู่
  • กระต่ายนั่งในท่าตึงเครียด กระทืบขาหลังหนัก ๆ และพยายามเบี่ยงหลบออกไป หูตั้งตรง และดวงตาเบิกกว้าง
  • กระต่ายนั่ง ทิ้งน้ำหนักไปทางด้านหลัง อ้าปากจนเห็นฟันเหมือนกำลังขู่ หูลู่ไปดานหลัง หางตั้งขึ้น และตาเบิกกว้าง

การเลี้ยงกระต่าย

เตรียมสถานที่สำหรับเลี้ยงกระต่าย

เลี้ยงกระต่ายภายในบ้าน
การเลี้ยงกระต่ายภายในตัวบ้านมีหลายทางเลือก ทั้งเลี้ยงแบบปล่อยอิสระในห้อง หรือกรงกระต่ายขนาดใหญ่ ที่สำคัญควรมีพื้นที่ขนาดใหญ่พอที่จะให้กระต่ายได้กระโดดเล่นไปมาได้ และควรปล่อยออกจากคอกอย่างน้อยสองถึงสามชั่วโมงทุกวันเพื่อให้กระต่ายได้ออกกำลังกาย

เลี้ยงแบบปล่อยอิสระในห้อง การเลี้ยงแบบปล่อยอิสระในห้อง ควรเลือกเลี้ยงน้องไว้ในห้องใดห้องหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักเลือกเลี้ยงไว้ในห้องทำงาน อุปกรณ์เลี้ยงน้องที่ต้องมีคือ กระบะทราย กล่องใส่หญ้าแห้ง และถาดอาหาร โดยวางไว้บนแผ่นรองพลาสติกเพื่อกันหกหรืออุบัติเหตุต่างๆ การเลี้ยงแบบปล่อยอิสระนี้น้องกระต่ายจะได้เพลิดเพลินกับการเดินสำรวจ หรือวิ่งอย่างรวดเร็วได้ตามที่ต้องการ

เลี้ยงในกรงกระต่าย กรงกระต่ายจะมีพื้นที่ให้น้องน้อยที่สุด ดังนั้นหากเลือกเลี้ยงในกรง ควรเลือกกรงขนาดใหญ่พอที่จะมีพื้นที่ว่างให้น้องขยับตัวและนอน พร้อมทั้งมีพื้นที่สำหรับวางถาดอาหาร ถ้วยน้ำ กระบะทราย รวมถึงของเล่นของน้องด้วย และกรงควรมีประตูให้น้องออกไปไหนมาไหนได้บ้าง หากพื้นกรงเป็นลวดตาข่ายต้องมีกระเบื้องหรือไม้หรือวัสดุปูพื้นกรงด้วย ป้องกันอุ้งเท้าน้องเสียหายหรือบาดเจ็บจากการยืนหรือนอนบนพื้นลวด อีกทั้งต้องมีเวลาปล่อยน้องออกมานอกกรงอย่างน้อยสองถึงสามชั่วโมงต่อวัน

เลี้ยงนอกบ้าน
สำหรับที่อยู่ของกระต่ายหลักการเดียวกับเลี้ยงภายในบ้าน แต่ที่สำคัญต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ ดังนั้นกรงหรือคอกกระต่ายควรมีหลังคากันฝน กันแดด กันลมได้ มีความสูงพอที่กระต่ายจะกระโดดออกมาไม่ได้ มีประตูปิดแน่นหนาและมั่นใจว่ามิดชิดพอที่น้องจะไม่หลุดออกมา และสัตว์อื่นๆ เช่น งู สุนัข แมว เข้าไปทำร้ายน้องไม่ได้ ปูพื้นกรงด้วยหญ้าหรือฟางจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นในตอนกลางคืนได้ด้วย

เตรียมที่ขับถ่าย
โดยธรรมชาติกระต่ายจะขับถ่ายในพื้นที่หนึ่ง ดังนั้นให้ตั้งกระบะทรายขนาดกลางไว้ใกล้กับถาดอาหาร ถ้วยน้ำ หญ้าแห้ง และใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองเป็นชั้นบางๆ

การอาบน้ำกระต่าย

โดยธรรมชาติกระต่ายเป็นสัตว์รักความสะอาดและพวกมันจะอาบน้ำบ่อยๆ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องแปรงขนกระต่ายเป็นประจำ เนื่องจากกระต่ายจะมีการผลัดขนปีละสองครั้ง ดังนั้นการแปรงขนเพื่อกำจัดขนส่วนเกินออกให้หมดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้นกระต่ายอาจกินขนเข้าไปและเกิดปัญหาการย่อยอาหารอย่างรุนแรงได้

สำหรับกระต่ายอายุไม่เกิน 3 เดือน ไม่แนะนำให้พาไปอาบน้ำเพราะจะป่วยได้ง่าย การทำความสะอาดให้เน้นใช้ผ้าหรือทิชชู่เปียกเช็ดตามบริเวณลำตัวเท่านั้น

สำหรับกระต่ายที่โตเต็มวัยและมีสุขภาพแข็งแรง เราสามารถพาน้องไปเล่นน้ำในกะละมังได้ แต่ต้องระวังน้ำเข้าหู แนะนำให้ใช้วิธีบีบหูน้องในขณะที่ตักน้ำราดตามลำตัว การเลือกแชมพูทำความสะอาดกระต่ายต้องระวังปัญหาระคายเคือง ซึ่งมักเจอในแชมพูที่มีการใส่กลิ่นน้ำหอมทำให้กระต่ายขนร่วงจากการแพ้สารในแชมพู ดังนั้นอาจเลือกใช้เป็นแชมพูของเด็กจะปลอดภัยมากกว่า หลังการอาบน้ำทุกครั้งให้เช็ดทำความสะอาดขนจนแห้ง อาจใช้ไดร์เป่าลมเย็นเป่าเพื่อให้มั่นใจว่าขนของน้องแห้งสนิท ไม่เกิดการสะสมความชื้นเอาไว้

เล็บกระต่ายเป็นเรื่องสำคัญมาก

การตัดเล็บเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าปล่อยให้ยาวจนเกินไป มีโอกาสที่เวลาน้องวิ่งเล่นแล้วจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

การตัดเล็บควรใช้กรรไกรเฉพาะของกระต่าย หรือหากรรไกรตัดเล็บของน้องหมามาตัดก็ได้ วิธีการตัดเล็บจะเน้นการตัดเฉพาะส่วนปลายที่แหลมคม อย่าตัดลึกจนถึงเส้นสีชมพูเพราะเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดฝอยอยู่เยอะ ทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้ เมื่อตัดเล็บเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ตรวจเช็คความคมอีกรอบ หากมีเล็บบางส่วนแตกเกิดเป็นความคม ต้องทำการตะไบส่วนนั้นออก

การดูแลสุขภาพ

กระต่ายเป็นสัตว์ผู้ถูกล่า ดังนั้นโดยสัญชาตญาณตามธรรมชาติพวกมันมักซ่อนอาการเจ็บป่วยไว้ ผู้เลี้ยงต้องคอยใส่ใจสังเกตดูพฤติกรรมการกินและการขับถ่ายของกระต่ายว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ หากมีพฤติกรรมผิดปกติให้ติดต่อสอบถามหรือพาไปพบสัตว์แพทย์โดยทันที และเนื่องจากโรคในกระต่ายมีทั้งที่ไม่ติดต่อและติดต่อไปสู่คนได้ เช่น ไข้กระต่าย, โรคเชื้อราที่ผิวหนัง, ท้องเสียจากเชื้อบิด, โรคภูมิแพ้ เป็นต้น ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องพากระต่ายไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และฉีดยาป้องกันเห็บ หมัด ไรขน หรือผู้เลี้ยงอาจใช้ยาหยอดให้กระต่ายด้วยตัวเองก็ได้